Cr.ไทยรัฐออนไลน์
นครราชสีมา ภัยแล้งขยายวงกว้างประกาศเป็น 10 อำเภอ 62 ตำบล 659 หมู่บ้าน พ่อเมืองเรียกประชุม ถกยิบ โนนไทย-พระทองคำ น้ำผิวดินยังเกลี้ยง อ่างลำเชียงไกร-อ่างมูลบนใกล้วิกฤติ เร่งใช้รถน้ำแจกไล่ทีละหมู่บ้าน
เมื่อวันที่ 28 ม.ค. 59 นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานประชุมกรมการจังหวัดและหัวหน้าส่วนราชการทั้งจังหวัด ครั้งแรกของปี 2559 ที่หอประชุมเปรมติณสูลานนท์ ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา โดยมีทั้ง 3 รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา หัวหน้าส่วน นายอำเภอ ผกก.สถานีตำรวจ ทั้ง 32 อำเภอ สำนักชลประทานที่ 8 ชลประทานจังหวัดฯ ปภ.เขต 5 ปภ.จังหวัดฯ กรมทรัพยากรน้ำ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้บริหารสถานศึกษาพร้อมหน้าพร้อมตา
ทั้งนี้ ในที่ประชุม ทางชลประทานนครราชสีมา ได้รายงานสถานการณ์น้ำตามเขื่อนต่างๆ และอ่างเก็บน้ำ โดยล่าสุดมีการประกาศเขตภัยแล้งหรือประกาศเขตให้การช่วยเหลือเพิ่มเติมเป็น 10 อำเภอ 62 ตำบล 659 หมู่บ้าน พื้นที่การเกษตรเสียหาย 466,528 ไร่เศษ ประกอบด้วย อำเภอโนนไทย อำเภอโนนแดง อำเภอขามสะแกแสง อำเภอด่านขุนทด อำเภอคง อำเภอบัวใหญ่ อำเภอเทพารักษ์ อำเภอบัวลาย อำเภอพระทองคำ และ อำเภอแก้งสนามนาง เป็นโซนตะวันออกเฉียงเหนือของจังหวัด
ซึ่งไม่ได้อยู่ในเขตชลประทาน ส่วนอ่างเก็บน้ำที่จะต้องติดตามอย่างใกล้ชิดจำนวน 9 อ่างเป็นอ่างขนาดใหญ่ คือ อ่างลำมูลบน อ.ครบุรี น้ำต่ำกว่าเกณฑ์มีน้ำเหลือ 47 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 33% ของความจุ 141 ล้าน ลบ.ม. และอ่างขนาดกลางอีก 8 อ่าง เช่น อ่างห้วยยาง อำเภอเมือง อ่างลำสำลาย อำเภอปักธงชัย อ่างห้วยปราสาทใหญ่ อำเภอด่านขุนทด อ่างลำเชียงไกรตอนล่าง อำเภอโนนไทย อ่างหนองกก อ่างห้วยตะคร้อ อ่างห้วยยางพะไล และ อ่างกระโตน
แต่ที่หนักที่สุดจะเป็นอ่างลำเชียงไกรตอนล่าง และอ่างหนองกก ปริมาณน้ำไม่สามารถวัดได้เป็นศูนย์ ( 0 ) ซึ่งมีการติดตามสภาพน้ำอย่างใกล้ชิดตลอดเวลา ส่วนอ่างลำตะคอง อ.สีคิ้ว ขณะนี้มีน้ำประมาณ 111 ล้าน ลบ.ม.หรือคิดเป็น 36% ของความจุ 314 ล้าน ลบ.ม. ที่เป็นน้ำสำหรับอุปโภค บริโภคในพื้นที่ 5-6 อำเภอและการประปาภูมิภาคน่าจะเพียงพอไปถึงเดือนเมษายน
นายวิเชียร จันทรโณทัย กล่าวว่า โครงการชาวโคราชสร้างฝายสู้ภัยแล้ง ขณะนี้สร้างฝาย 185 ฝายแล้ว และให้นโยบายรณรงค์สูบน้ำเข้ากักเก็บ เพื่อดำเนินการการทำน้ำประปาในช่วงฤดูแล้ง โดยขณะนี้สูบน้ำกักเก็บได้แล้วประมาณ 32 ล้าน 9 แสน ลบ.ม. ซึ่งเป็นน้ำผิวดิน
ส่วนที่ไม่มีน้ำผิวดินเลย เช่น อำเภอโนนไทย อำเภอพระทองคำ อำเภอขามสะแกแสง จึงจำเป็นต้องแจกจ่ายน้ำ 9-10 อำเภอนี้ไปประมาณ 2 ล้าน 6 แสนลิตร ส่วนกรณีที่น้ำผิวดินหมดเราได้เร่งดำเนินการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนโดยการขุดเจาะบ่อบาดาลหรือเป่าล้างให้ ขณะนี้ตนและรองผู้ว่าราชการจังหวัดทุกคน ได้ติดตามสถานการณ์และแก้ไขปัญหาเป็นรายหมู่บ้านในพื้นที่ 9-10 อำเภอ ซึ่งตนได้ลงพื้นที่ไปแล้ว 59 หมู่บ้านที่ประสบปัญหา
ตนลงพื้นที่ไปดูสภาพพบว่า บางพื้นที่มีปัญหาจริงๆ น้ำผิวดินไม่มีเลย เจาะน้ำบาดาลก็ไม่ได้ เค็มไปหมด ฉะนั้นต้องใช้รถน้ำไปแจกให้พ้นแล้งนี้ไปก่อน โดยไล่ทีละหมู่บ้าน ทีละอำเภอไป จากนั้นเราจะเอาปัญหาพวกนี้ที่ขาดน้ำมาวางในการแก้ไขปัญหาในปีหน้าและปีต่อๆ ไป แต่สิ่งหนึ่งที่ตนพบแต่ละพื้นที่ทุกคนขอขุดลอก ขอฝาย ตนคิดว่าบางทีแหล่งน้ำมีแต่ไม่มีน้ำจะไปขุดลอกมันก็ไม่มีน้ำ ตนคิดว่าอันดับแรกถ้าไม่ตื้นเขินเราจะทำอย่างไรในการบริหารน้ำไปลงสระนั้นมากกว่า อย่างอ่างลำเชียงไกร อำเภอโนนไทย จนหมดฝนไปหลายเดือนมีน้ำเหลือแค่ 1 ล้าน ลบ.ม. ไม่ไหลไปไหนได้ มีแต่กำลังรอแห้งเพียงอย่างเดียว ฉะนั้นปีหน้าถ้าไม่มีน้ำมาเติมก็จะเจอปัญหาอย่างนี้อีก ตนคิดโครงการปีนี้เราต้องทำอย่างไรที่จะหาน้ำมาเติมให้อ่างลำเชียงไกรให้ได้ เพื่อจะได้แก้ปัญหาในเขตย่านนั้น นายวิเชียร กล่าว
|
ไม่มีความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น